
ไมเนอร์ฟู้ด ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในไทย 4 แสนล้านบาท ที่ถูกกระทบหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แน่นอนว่าปีนี้ตลาดธุรกิจร้านอาหารและวิตามินอาจจะไม่ได้สดใสเท่ากับปีที่ผ่านๆ มา และแม้หลายแบรนด์จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ธุรกิจร้านอาหารผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วคือ ช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาที่ไม่สามารถบริการแบบ Dine-in หรือบริการนั่งทานในร้านที่เป็นรายได้หลัก แล้วครึ่งปีหลังจากนี้แบรนด์ต่างๆ ต้องหาสูตรอย่างไรให้รายได้กลับมาสดใสเหมือนเคย

ส่องครึ่งปีหลังของ “ไมเนอร์ ฟู้ด” เชนร้านอาหารและฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่ว่าจะเป็น The Pizza Company, Swensen’s, Sizzler, The Coffee Club, Dairy Queen, Burger King และ Bonchon ที่มีสาขาในไทย และต่างประเทศมากกว่า 2,300 สาขา จะใช้กลยุทธ์อย่างไรให้รายได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา 24,000 ล้านบาท
ดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT และรักษาการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไมเนอร์ ฟู้ด เปิดเผยว่า โควิด-19 เป็นตัวเร่างให้กลุ่มไมเนอร์ปรับปรุงองค์กรอย่างฉับพลัน โดยมีไมเนอร์ ฟู้ด เป็นคีย์โฟกัส
สิ่งหนึ่งคือได้เรียนรู้จากสาขาในประเทศจีนที่โดนโควิด-19 โจมตีก่อนใคร และฟื้นตัวก่อนใคร ทำให้กลุ่มไมเนอร์เตรียมพร้อมก่อนใครอย่างรวดเร็ว ด้วยการปรับปรุงองค์กรทั้งเรื่องของกลยุทธ์ โครงสร้างองค์กร ดิจิทัล เทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แน่นอนว่าในช่วงล็อกดาวน์ธุรกิจร้านอาหารต้องพึ่งช่องทางเดลิเวอรี่มาเป็นตัวช่วยในการสร้างรายได้ทดแทนการนั่งกินภายในร้านที่เป็นช่องทางหลัก ประพัฒน์ เสียงจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาไมเนอร์ ฟู้ด เองยอดขายผ่านช่องทางเดลิเวอรี่โตถึง 3 เท่า
โดยมีแบรนด์ฮีโร่ที่ช่วยไมเนอร์ ฟู้ดให้เจ็บไม่มากคือ The Pizza Company รองลงมาคือ Burger King และ Bonchon ส่วนแบรนด์ที่เหนื่อยหนักคือ Sizzler ทุกร้านในห้างปิดหมด และพฤติกกรรมลูกค้าคือการนั่งทานในร้าน การมีเดลิเวอรี่ให้สั่งก็ดูจะยังไม่ตอบโจทย์มากนัก และ The Coffee Club ที่สาขาส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดท่องเที่ยว และมีลูกค้าเป็นชาวต่างชาติเป็นหลัก

สำหรับรายได้ในปีนี้ ประพัฒน์ ระบุว่า บางแบรนด์ที่มีอยู่ไมเนอร์ ฟู้ดมั่นใจว่าทำรายได้ได้มากกว่าแน่นอนที่รายได้หลักมาจากการซื้อกลับบ้าน และเดลิเวอรี่ แต่แบรนด์ที่มีรายได้หลักจากการนั่งทานในร้านคาดการณ์ว่าอาจทำไม่ได้เท่าปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามภาพรวมทั้งไมเนอร์ ฟู้ด เบสท์เคสที่สุดคือได้เท่ากับปีที่แล้ว ทั้งนี้อยากให้มองรายได้ในปีนี้เป็น 3 ช่วงคือ ช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. ร้านสาขายังขายได้ดี
ช่วงล็อกดาวน์ มี.ค.-พ.ค. โดนกระทบหนัก แต่ได้รายได้จากช่องทางเดลิเวอรี่มาช่วย ทั้งนี้เดือนเม.ย.คือจุดต่ำสุดที่เราผ่านมาแล้ว ช่วงสุดท้ายคือ ก.ค.-ธ.ค. เป็นช่วงเวลาที่ต้อง Pick-up มากกว่า 90% เห็นการปรับตัวดีขึ้นของยอดขาย โดยยอดขายดีขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ปัจจุบันยอดขายอยู่ที่ 80% ของช่วงก่อนโควิด และเชื่อว่าช่วงที่เหลือจากนี้จะสามารถทำให้ยอดขายอยู่ในระดับก่อนมีการระบาดของโควิด-19 ได้

สำหรับกลยุทธ์ครึ่งปีหลังของไมเนอร์ ฟู้ด ประพัฒน์ เล่าให้ฟังดังนี้
ยกระดับบริการเดลิเวอรี่ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มการสั่งอาหารออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้บริโภคให้สามารถสั่งอาหารได้หลากหลายภายในออเดอร์เดียว ซึ่งการที่มีแพลตฟอร์มสั่งอาหารเดลิเวอรี่เป็นของตัวเองช่วยลดค่าใช้จ่าย และสร้างฐานข้อมูลลูกค้าให้กัไมเนอร์อีกด้วย รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นของตัวเองให้แข่งแกร่งเพื่อให้สามารถแข่งขันได้
แม้ในปัจจุบันไมเนอร์ ฟู้ดจะมีทั้งบริการเดลิเวอรี่ทั้งจากคอลเซ็นเตอร์ ,แอปฯการสั่งอาหารของ The Pizza Company และ 1112 Delivery แต่ประพัฒน์ระบุว่า แบรนด์ของไมเนอร์ ฟู้ดเอง ก็ยังต้องมีการพาร์ทเนอร์ เอาแบรนด์เข้าไปอยู่ในผู้ให้บริการรับ-ส่งอาหารอยู่ เพราะแอปฯผู้ให้บริการรับส่งเหล่านี้มีข้อได้เปรียบคือมีฐานลูกค้า มีร้านอาหารเยอะ
เพราะฉะนั้นไมเนอร์ ฟู้ดยังคงต้องอยู่ในเกม พัฒนา 2 กลยุทธ์ทั้งพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเอง และไปอยู่บนแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการไปพร้อมๆ กัน “สิ่งที่เราเดลิเวอรี่ได้เหนือการคือการเป็นแพลตฟอร์มตัวเองที่สามารถคุมระยะเวลาการจัดส่งให้ได้ภายใน 30 นาที ได้เปรียบในเรื่องของคุณภาพอาหารที่ยังร้อนและอร่อย รวมทั้งเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ”
เพื่อดึงดูดผู้บริโภค ไมเนอร์ ฟู้ดจะไม่เน้นการทำโปรโมชั่น 1 แถม 1 ตลอด แต่จะทำเมนูใหม่ผ่านการนำเมนูที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาทางให้เกิดเมนูใหม่เช่น การพัฒนาเมนู มะม่วง แบล็ค ดูโอ้ ไอศกรีมมะม่วงอกร่องทองกับเครื่องเคียงอย่างข้าวเหนียวดำที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่สเวนเซ่นส์มีอยู่แล้ว

สำหรับแผนธุรกิจ และการลงทุนของไมเนอร์ ฟู้ดในปีนี้นั้น ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ MINT ระบุว่า แผนธุรกิจ 5 ปีตอนนี้ทำยากกว่าเดิม เพราะยังไม่เห็นความชัดเจนของสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจที่ชัดเจนโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม
แต่ของไมเนอร์ฟู้ด เราเห็นการกลับมาอย่างรวดเร็ว และเป็นตัวช่วยธุรกิจของกลุ่มไมเนอร์โดยรวมได้อย่างดี โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 เป็นตัวลดทอนผลกระทบได้อย่างดี ด้านของไมเนอร์ ฟู้ด น่าจะเห็นแผนธุรกิจที่ชัดเจนมากกว่า ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงกำลังปรับแผนระยะยาว
ขณะที่รายได้ในปีนี้นั้นยังประเมินไม่ได้ว่าจะมีรายได้มากน้อยแค่ไหน และจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีช่วงที่ทำให้ไม่สามารถให้บริการได้รายได้ต้องลดจากปีที่แล้วแน่นอน แต่เชื่อว่าไตรมาส 3-4 จะสามารถไดรฟ์กลับไปสู่ช่วงก่อนโควิด-19 ได้ ด้านงบลงทุนใหญ่ๆ ชัยพัฒน์ ระบุว่า ปีนี้ต้องชะลอไว้ก่อน เพราะต้องรักษาสภาพคล่องของบริษัท แต่หากมีโปรเจ็กต์ในแบรนด์ที่สามารถทำรายได้ให้รีเทิร์นกลับมาได้ก็จะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป
สำหรับงบลงทุนใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาของไมเนอร์ ฟู้ดในปีนี้คือ การลงทุนเพิ่มในแบรนด์ “บอนชอน” กว่า 2,400 ล้านบาท เพื่อถือสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ 20 ปี หลังจากเมื่อปลายปีที่ผ่านมาควักเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อซื้อธุรกิจจากเจ้าของเดิม และใช้เงิน 1.1 พันล้านบาท ซื้อหุ้น BreadTalk ในสิงคโปร์

จะเห็นได้ว่าการปรับตัว หรือการผื้นตัวในช่วง Covid-19 นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ก็สามารถผ่านไปได้เช่นกันหากเรามีความพร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคนั้นไป ด้วยการทำธุรกิจนั้นต้องพร้อมรับความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัว ดังนั้นความรู้และประสบการณ์เท่านั้นที่จะช่วยให้เราผ่านจุดๆ นั้นไปได้
เนื้อหาที่คุณอาจสนใจ : 3 ซีรี่ย์ Netfilx 2020 ที่ไม่ดูไม่ได้